backup og meta

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้หลายอาการ เช่น อาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อหรือ โรคข้ออักเสบ ปวดหัวไมเกรน อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อย่างไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาใด ๆ

[embed-health-tool-bmi]

ข้อบ่งใช้

ไอบูโพรเฟน ใช้สำหรับ

ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดได้หลากหลายอาการ เช่น อาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อหรือ โรคข้ออักเสบ

นอกจากนี้ ยาไอบูโพรเฟน ยังสามารถใช้ลดไข้ บรรเทาอาการเจ็บและปวด ที่มีสาเหตุมาจากโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย ยาไอบูโพรเฟน เป็นยาซาลิไซเลตและยาต้านอักเสบไร้สเตียรอยด์ (NSAID) ตัวยาจะขัดขวางสารจากธรรมชาติบางอย่างภายในร่างกาย ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ยาตัวนี้จะช่วยลดอาการบวม อาการเจ็บหรือเป็นไข้

วิธีการใช้ ไอบูโพรเฟน

  • หากคุณกำลังรับประทานยาที่ซื้อเองตามร้ายขายยา อ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ยาทั้งหมดก่อนรับประทานยาไอบูโพรเฟน หากแพทย์จ่ายยาตัวนี้ให้ อ่านคู่มือทางการแพทย์ที่ได้รับมาจากเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ก่อนเริ่มใช้ ยาไอบูโพรเฟน ในแต่ละครั้งหากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • รับประทานยาตัวนี้ ตามด้วยน้ำเปล่าเต็มแก้ว (8 ออนซ์/240 มิลลิลิตร) นอกจากว่าแพทย์จะสั่งให้คุณทำแบบอื่น อย่าเพิ่งนอนหลังจากรับประทานยาอย่างน้อย 10 นาทีหลังจากที่คุณรับประทานยานี้ การรับประทานพร้อมกับอาหาร นม หรือยาลดกรดจะช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ เช่น อาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษาในแต่ละคน เพื่อลดความเสี่ยงของ อาการเลือดออกในกระเพาะและผลข้างเคียงอื่น ๆ ควรรับประทานยาตัวที่ประสิทธิภาพในระดับต่ำที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่าเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ควรรับประทานยาตัวนี้ต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • เมื่อใช้ ยาไอบูโพรเฟน ในเด็ก ขนาดยาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก อ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับน้ำหนักตัวของเด็ก ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือในการเลือกยาตามร้านขายยา
  • สำหรับอาการบางประเภท เช่น โรคข้ออักเสบ อาจใช้เวลามากถึง 2 สัปดาห์ในการรับประทานยาตัวนี้ จนกว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากตัวยาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • หากคุณรับประทานยาตัวเมื่อมีอาการ ยาแก้ปวดจะมีประสิทธิภาพที่สุด หากใช้ในขณะที่มีสัญญาณแรกของอาการปวดเกิดขึ้น
  • หากอาการของคุณยังคงอยู่หรือทรุดลง หรือหากคุณคิดว่าคุณอาจมีปัญหาทางการแพทย์ร้ายแรง ควรเข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที  ปรึกษาแพทย์ทันทีหากไข้ทรุดลงหรือมีอาการมากกว่า 3 วัน หรือหากอาการเจ็บทรุดลงหรือเกิดอาการมากกว่า 10 วัน

การเก็บรักษา ยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟน ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไอบูโพรเฟน บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้ง ยาไอบูโพรเฟน ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ ยาไอบูโพรเฟน

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์ทราบหาก

  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรของคุณ หากคุณแพ้ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพรินหรือยากลุ่ม NSAIDs อย่างเช่น ยาคีโตโพรเฟน (Ketoprofen) และยานาพรอคเซน (Naproxen) และยาตัวอื่นที่มีส่วนผสมที่ไม่ออกฤทธิ์ ใน ยาไอบูโพรเฟน ประเภทใดก็ตาม
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากกำลังใช้ยาอื่น ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อเองตามร้านขายยา รวมทั้งสมุนไพรและอาหารเสริมอื่น ๆ ที่กำลังใช้งานอยู่นอกจากนี้ หากำลังใช้ยาเหล่านี้ควรแจ้งแพทย์ด้วย

    ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE อย่างเช่น ยาเบนาเซพริล (Benazepril) ยาแคปโทพริล (Captopril) ยาอีนาราพริล (Enalapril) ยาโฟซิโนพริล (Fosinopril) ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) ยาโมเอกซิพริล (Moexipril) ยาเพรินดูพริล (Perindopril) ยาควินาพริล (Quinapril) ยารามิพริล (Ramipril) และยาทรานโดราพริล (Trandolapril) – ยาขับปัสสาวะ (‘ยาขับน้ำ’) ยาลิเทียม (Lithium) และยาเมโทเตรเซท (Methotrexate) แพทย์ของคุณอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนชนิดยาของคุณ หรือสังเกตผลข้างเคียงของคุณอย่างระมัดระวัง

  • อย่ารับประทาน ยาไอบูโพรเฟน ที่ซื้อเองจากร้านขายยา ร่วมกับยาใด ๆ ก็ตามที่ใช้สำหรับอาการปวด นอกจากว่าเป็นคำสั่งจากแพทย์ให้ทำแบบนั้น
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบหากมีหรือเคยมีอาการใด ๆ ที่ได้กล่าวไว้ใน หัวข้อ “คำเตือนสำคัญ” หรือโรคหอบหืด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลหรือเกิดริดสีดวงจมูกบ่อยครั้ง (อาการบวมภายในจมูก) อาการบวมที่แขน มือ ฝ่าเท้า ข้อเท้าหรือขาช่วงล่าง โรคลูปัส (อาการที่ร่างกายทำร้ายเนื้อเยื่อและอวัยวะของตัวเอง ได้แก่ ผิวหนัง ข้อต่อ เลือด และไต) โรคตับหรือโรคไต หากคุณให้ ยาไอบูโพรเฟน แก่เด็ก ควรแจ้งแพทย์ก่อน หากเด็กไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มใด ๆ หรือสูญเสียของเหลวในร่างกายจำนวนมาก จากการอาเจียนหรือท้องร่วง
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากคุณอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ วางแผนว่าจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร หากคุณตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังรับประทาน ยาไอบูโพรเฟน สอบถามแพทย์ของคุณ
  • หากคุณต้องเข้ารับการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดทางทันตกรรม บอกแพทย์หรือทันตแพทย์ว่า คุณกำลังรับประทาน ยาไอบูโพรเฟน
  • หากคุณเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) โรคทางพันธุกรรมซึ่งต้องมีการทำอาหารชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (Mental Retardation) คุณควรทราบว่ายาเม็ดชนิดแตกตัวบางชนิดอาจมีส่วนผสมของแอสพาแทม (Aspartame) ที่ฟอร์มตัวกันเป็นสารฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine กรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง)

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไอบูโปรเฟน เป็นยากลุ่มเสี่ยงในสตรีมีครรภ์ระดับ C ใน 6 เดือนแรก และระดับ D ใน 3 เดือนสุดท้าย อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA)

ระดับความเสี่ยงของยาที่ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้แก่

  • A=ไม่มีความเสี่ยง
  • B=ไม่พบความเสี่ยงในบางงานวิจัย
  • C=อาจมีความเสี่ยงบางประการ
  • D=มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X=ห้ามใช้
  • N=ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากการใช้ ยาไอบูโพรเฟน

เข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที หากคุณมีสัญญาณใด ๆ ก็ตามของปฏิกิริยาการแพ้ ผื่น ปัญหาในการหายใจ อาการบวมบนใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้นและคอ

หยุดรับประทาน ยาไอบูโพรเฟน และเข้ารับการดูแลทางการแพทย์ หรือโทรหาแพทย์ของคุณทันที หากคุณมีผลข้างเคียงรุนแรงเหล่านี้ ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หายใจถี่ พูดไม่ชัด มีปัญหาการมองเห็นหรือการทรงตัว
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำ ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนที่ดูเหมือนกาแฟบด
  • อาการบวมและน้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • ไม่มีการปัสสาวะหรือปัสสาวะน้อยลง
  • คลื่นไส้ เจ็บกระเพาะช่วงบน ระคายเคือง เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีดินเหนียว ดีซ่าน (การตกเหลืองทางผิวหนังและดวงตา)
  • เป็นไข้ เจ็บคอ และปวดหัว พร้อมกับเกิดตุ่มหรือการลอกของผิวหนังขั้นรุนแรง และผื่นแดงบนผิวหนัง
  • รอยฟกช้ำ เหน็บชาอย่างรุนแรง ไร้ความรู้สึก อาการเจ็บ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดหัวรุนแรง คอตึง หนาวสั่น ไวต่อแสงมากขึ้น และหรืออาการชัก

อาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ได้แก่

  • ท้องไส้ปั่นป่วน อาการแสบร้อนกลางอกระดับเบา ท้องร่วง ท้องเสีย
  • ท้องอืด แก๊สในกระเพาะ
  • เวียนหัว ปวดหัว กระวนกระวาย
  • ผิวหนังระคายเคืองหรือมีผื่น
  • มองเห็นไม่ชัด
  • เสียงก้องในหู

ไม่ใช่ทุกคนจะพบผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงบางอาการที่ไม่มีอยู่ด้านบน หากคุณมีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรของคุณ

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาไอบูโพรเฟน อาจทำปฏิกิริยากับยาตัวอื่นที่คุณใช้อยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนประสิทธิภาพการทำงานของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ควรแจ้งรายชื่อยาทั้งหมดที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อรับประทานเอง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อความปลอดภัยของคุณอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนปริมาณยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

บอกแพทย์ของคุณเกี่ยวกับยาทั้งหมด ที่คุณใช้อยู่ ได้แก่

  • ยาแอสไพริน หรือยาตระกูล NSAIDs อื่น ๆ เช่น ยานาพรอคเซน (Naproxen) ยาเซเลคอคซิบ (Celecoxib) ยาไดคลอฟีแนค (Diclofenac) ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ยาเมโลซิแคม (Meloxicam) และอื่นๆ
  • ยาหัวใจหรือความดัน อย่างเช่น ยาเบนาเซพริล (Benazepril) ยาเอนาราพริล (Enalapril) ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) ยาควินาพริล (Quinapril) ยารามิพริล (Ramipril) และอื่นๆ
  • ยาลิเทียม (Lithium)
  • ยาขับปัสสาวะ (ยาขับน้ำ) อย่างเช่น ยาฟูโรเซไมด์ (Furosemide)
  • ยาเมโทเตรเซท (Methotrexate)
  • ยาสเตียรอยด์ (ยาเพรดนิโซน และอื่น ๆ)
  • ยาเจือจางเลือด อย่างเช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไอบูโพรเฟนอาจทำปฎิกิริยากับอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการทำงานของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนใช้ยาตัวนี้

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น ๆ

ยาไอบูโพรเฟน อาจทำปฎิกิริยากับอาการโรคของคุณ อาจทำให้อาการโรคของคุณทรุดลง หรือเปลี่ยนประสิทธิภาพการทำงานของยา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะบอกให้แพทย์และเภสัชกร รับรู้ถึงอาการโรคที่คุณกำลังเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการโรคหรือภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

  • โลหิตจาง
  • หอบหืด
  • ปัญหาการเลือดออก
  • ปัญหาเรื่องลิ่มเลือด
  • บวมน้ำ
  • มีประวัติ โรคหัวใจวาย
  • โรคหัวใจ (เช่น หัวใจล้มเหลว)
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคไต
  • โรคตับ (เช่น ตับอักเสบ)
  • แผลหรือเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้
  • มีประวัติของหลอดเลือดในสมองแตก ใช้อย่างระมัดระวัง ยาตัวนี้อาจทำให้อาการเหล่านี้ทรุดลง
  • มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน ไม่ควรใช้ยาตัวนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการนี้
  • เบาหวาน ใช้อย่างระมัดระวัง ยาตัวนี้ในรูปแบบของสารละลายอาจมีส่วนผสมของน้ำตาล
  • การผ่าตัดหัวใจ (อย่างเช่นการผ่าตัดบายพาสหัวใจ [CABG])—ไม่ควรใช้ยาตัวนี้ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ ก่อนหรือหลังการผ่าตัด

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาด ยาไอบูโพรเฟน สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่ปวดประจำเดือน

  • รับประทานครั้งละ 200 ถึง 400 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ถึง 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคข้อเสื่อม

  • ขนาดยาเริ่มต้น รับประทานครั้งละ 400 ถึง 800 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • ขนาดยาเริ่มต้น รับประทานครั้งละ 400 ถึง 800 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหัว

  • งานวิจัย (n=34) ป้องกันอาการปวดหัวที่เกิดจากการรักษาจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT)
  • รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม 90 นาทีก่อนเข้ารับการรักษา

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการปวด

ยารับประทานสำหรับอาการปวดระดับเบาถึงปานกลาง

รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4 ถึง 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น ไม่มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของยาที่เพิ่มขึ้น สำหรับขนาดยาที่มากกว่า 400 มิลลิกรัม

ยาทางหลอดเลือดดำ

ผู้ป่วยควรมีความชุ่มชื้นในร่างกายเพียงพอ ก่อนให้ยาทางหลอดเลือดดำ การให้ยาบรรเทาอาการปวดทางทางหลอดเลือดดำควรให้ครั้งละ 400-800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 30 นาที ทุก ๆ 6 ชั่วโมงที่ต้องการ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้

  • รับประทานยาครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4 ถึง 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • การให้ยาทางหลอดเลือดดำผู้ป่วยควรมีความชุ่มชื้นในร่างกายเพียงพอ ก่อนให้ยาทางหลอดเลือดดำ

    มีไข้ ระยะเริ่มต้น ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 400 มิลลิกรัม เป็นเวลา 30 นาที

    ระยะควบคุม ครั้งละ 400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมงหรือครั้งละ 100 ถึง 200 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ตามที่จำเป็น

ขนาด ยาไอบูโพรเฟน สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กที่เป็นไข้

วัยมากกว่า 6 เดือนจนถึง 12 ปี

  • รับประทานยา 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ต่อครั้ง ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมงตามที่ต้องการสำหรับเด็กที่มีไข้ต่ำกว่า 39.2 องศาเซลเซียส
  • รับประทานยา 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ต่อครั้ง ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมงตามที่ต้องการสำหรับเด็กที่มีไข้เท่ากับหรือเกินกว่า 39.2 องศาเซลเซียส

ขนาดยาสำหรับเด็กที่มีอาการปวด

เด็กทารกและเด็กเล็ก

รับประทานยา 4-10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมงตามที่ต้องการ

ขนาดยาสูงสุดต่อวันที่แนะนำอยู่ที่ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ขนาดยาสำหรับเด็กที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

วัย 6 เดือนจนถึง 12 ปี

ทั่วไป รับประทาน 30-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งเป็น 3-4 ขนาดยา เริ่มขนาดยาที่ระยะต่ำสุดและคำนวณ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาจต้องรักษาด้วยขนาดยา 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)

  • ยารับประทาน อาการเรื้อรังที่เป็นมานานมากกว่า 4 ปี 2 ครั้งต่อวัน ปรับขนาดยา เพื่อรักษาค่าของเหลวให้อยู่ในระดับ 50-100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีความเกี่ยวข้องต่อการชะลอการเจริญเติบโตของโรค ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคปอดระดับเบา

ขนาดยาสำหรับเด็กที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเกิน

  • ไอบูโพรเฟน ไลซีน (Ibuprofen lysine)

    อายุครรภ์ 32 สัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น น้ำหนักแรกเกิด : 500-1500 กรัม

    ขนาดยาเริ่มต้น : 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามด้วย 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2 ครั้ง หลังผ่านไป 24 และ 48 ชั่วโมง

รูปแบบยา

ยาไอบูโพรเฟน มีรูปแบบและฤทธิ์ยาให้เลือกใช้  ได้แก่

  • ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน (Tablet)
  • ยาแคปซูลซอฟท์เจล (Soft Gel)

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

ในกรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด แจ้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นหรือไปยังห้องฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

อาการของการใช้ยาเกินขนาด อาจมีดังนี้ ได้แก่

  • เวียนหัว
  • ตาเคลื่อนไหวรวดเร็วและควบคุมไม่ได้
  • หายใจช้าหรือหยุดหายใจได้ไม่นาน
  • มีสีฟ้าเกิดขึ้นรอบริมฝีปาก ปากและจมูก

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ ยาไอบูโพรเฟน กลับมาใช้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม หากใกล้ถึงเวลาที่คุณจะต้องใช้ยาครั้งต่อไป ข้ามขนาดยาครั้งที่แล้ว และใช้ขนาดยาตามกำหนดการเดิม อย่าเพิ่มขนาดยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ibuprofen https://www.drugs.com/ibuprofen.html. Accessed July 16, 2016.

Ibuprofen intravenous http://www.webmd.com/drugs/2/drug-152729/ibuprofen- intravenous/details. Accessed July 16, 2016.

Ibuprofen http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/ibuprofen- oral-route/description/drg-20070602. Accessed July 16, 2016.

ยาไอบูโพรเฟน กับข้อควรระวังในการใช้. http://drug.pharmacy.psu.ac.th/index.php/article/general-articles/147-ibuprofen-precaution. Accessed July 20, 2023.

Ibuprofen for adults (Nurofen). https://www.nhs.uk/medicines/ibuprofen-for-adults/. Accessed July 20, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/07/2023

เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ

เป็นหวัดกินอะไรดี 6 อาหารช่วยบรรเทาอาการหวัด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 20/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา